แมลงวันหัวเขียว BLOW FLY

แมลงวันหัวเขียว BLOW FLY

  • ชื่อสามัญ : Blow fly                
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ : Chrysomya megacephala(F.)
  • Family : Calliphoridae
  • Order : Diptera

 

ลักษณะทางสัณฐานวิทยาและชีววิทยา

ลักษณะหนวด : แบบ aristate หนวดแบบนี้มี flagellum เป็นปล้องใหญ่ปล้องเดียว บน flagellum จะมีเส้นขน arista ติดอยู่เป็นเส้นเล็ก ๆ เรียงกันเป็นแถว

ลักษณะปีก : ปีกมี 1 คู่เป็นแบบ membrane ปีกคู่หลังลดรูป (halter)

ลักษณะปาก : แบบซับดูด (sponging type)  

ลักษณะขา : แบบขาเดิน (walking leg) มีสีดำ โดยที่ขาคู่แรกอยู่บริเวณต้นส่วนอกที่ติดกับส่วนหัว ส่วนขา 2 คู่หลัง อยู่ชิดกับบริเวณส่วนอกด้านท้ายติดกับส่วนท้อง

ลักษณะทั่วไป : ลำตัวขนาดใหญ่ ลำตัวยาวประมาณ 6.0-14.0 mm. มีลำตัวสีเขียวถึงน้ำเงินเด่นชัด สะท้อนแสงแวววาว ส่วนหัวมีตาสีแดงเข้ม 2 ข้าง ขนาดใหญ่ การแยกลักษณะเพศผู้กับเพศเมีย คือ ตัวผู้จะมีลักษณะตาชิด และตัวเมียจะมีตาห่าง ส่วนอกมีขนาดใหญ่กว่าทุกส่วน มีขนปกคลุมทั่วตัว  มีโครงปีกเป็นเส้นสีดำ

พฤติกรรม : ส่วนใหญ่เพาะพันธุ์บริเวณกองขยะแหล่งกำจัดขยะมูลฝอยที่มีความชื้นสูง และสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ หรือบริเวณแหล่งที่มีการตายซากสัตว์ จะออกหากินในเวลากลางวันและพักผ่อนในเวลากลางคืน การกินอาหารของแมลงวัน หากเป็นอาหารเหลว แมลงวันจะใช้ปากดูดกลืนอาหารเข้าปากโดยตรง ส่วนอาหารของแข็ง แมลงวันจะปล่อยน้ำลายใช้ย่อยอาหาร แล้วดูดกินกลับเข้าไป

 

แมลงวันหัวเขียว มีการเจริญเติบโตแบบ complete metamorphosis ซึ่งจะประกอบไปด้วย

  • ระยะไข่ (egg) : ใช้เวลาประมาณ 8-72 ชม.เพศเมียวางไข่ครั้งละ 120 -150 ฟอง สามารถขยายพันธุ์ได้ 200-1000 ฟอง
  • ตัวอ่อน (larva) : ใช้เวลาประมาณ 3-60 วัน
  • ดักแด้ (pupa) : ใช้เวลาประมาณ 3-28 วัน
  • ตัวเต็มวัย (adult) : ตัวผู้มีอายุไขเฉลี่ยประมาณ 17 วัน ตัวเมียอายุประมาณ 29 วัน (ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียสและความชื้นสัมพัทธ์ร้อยละ 45)
 

แหล่งอาหาร : ระยะตัวอ่อนกินซากสัตว์ที่ตายแล้ว ตัวเต็มวัยชอบตอมอาหารที่มีกลิ่น กินอาหารสด อาหารเน่าเสีย เช่น ผลไม้เน่า ซากสัตว์เน่า เศษอาหาร น้ำตาล เนื่องจากแหล่งอาหารเหล่านี้มีการย่อยสลาย และมีสารน้ำต่าง ๆ ไหลออกมา ทำให้ง่ายต่อการดูดกิน เช่น น้ำหวาน น้ำเหลือง น้ำเลือด เป็นต้น

การแพร่กระจาย : พบได้ทั่วโลก มีการแพร่กระจายอย่างกว้างขวาง

 

วิธีการป้องกันควบคุม

  • ควบคุมโดยวิธีกล เป็นการกำจัดแมลงวันในระยะต่าง ๆ ด้วยแรงคนหรือเครื่องมือการจับ เช่น การเก็บหนอน การใช้สวิงจับ การใช้กรงหรือมุ้งตาข่าย การใช้กล่องดักจับ และการใช้ไม้ตีแมลงเป็นต้น
  • การกำจัด และป้องกันด้วยเครื่องมือฟิสิกส์ เป็นการใช้อุปกรณ์หรือเครื่องมือประดิษฐ์ที่อาศัยคุณสมบัติทางฟิสิกส์ เช่น คลื่นความร้อน คลื่นเสียง สี และรังสี เพื่อช่วยในการขับไล่หรือป้องกันแมลง เช่น เครื่องไล่แมลงด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เครื่องไล่แมลงด้วยคลื่นความถี่สูง เป็นต้น
  • ทำบริเวณบ้านให้สะอาดโดยเฉพาะบริเวณท่อระบายน้ำ
  • พยายามอย่าวางอาหารไว้ด้านนอก ควรจะมีภาชนะปิดอาหารให้มิดชิด
  • ใช้วิธีแบบชีววิธี เช่น การใช้สเปรย์สมุนไพรไล่
  • ใช้สารเคมี
  • การใช้เครื่องพ่นควัน โดยใช้สารเคมีกลุ่ม Organophosphorus หรือ Carbamate ได้แก่ Diazinon, Diflubenzuron, Cyromazine เป็นต้น
  • การกำจัดแมลงวันตัวเต็มตามแหล่งเกาะพัก เพื่อลดความชุกชุมของแมลงวัน ด้วยการฉีดพ่นสารเคมี ได้แก่ ไดอะซิโนน (diazinon), เฟนิโทรไทออน (fenitrothion) หรือ พิริมิฟอส-เมทิล (pirimiphos-methyl) เป็นต้น
  • การใช้วัสดุห้อยแขวนทาสารเคมี ซึ่งสารมารถกำจัดได้มาก เนื่องจากแมลงวันมีนิสัยชอบเกาะตามวัสดุที่ห้อยแขวนในแนวดิ่ง เช่น ใช้เชือกหรือวัสดุที่เป็นเส้น ยาวประมาณ 1-2 เมตร ทาหรือชุบน้ำตาลผสมสารเคมี เช่น ไดอะซิโนน (diazinon), เฟนิโทรไทออน (fenitrothion) หรือ พิริมิฟอส-เมทิล (pirimiphos-methyl) หลังจากนั้น ทุก ๆ 1-2 เดือนให้เปลี่ยนใหม่
  • การใช้เหยื่อพิษ วิธีนี้ใช้เหยื่อหรืออาหารที่แมลงวันชอบผสมสารกำจัดแมลง เช่น เศษอาหาร ผลไม้เน่า เนื้อเน่า ผสมกับสารเคมีในข้างต้นที่กล่าวมา
  • การฉีดพ่นด้วยสารสกัดสมุนไพรเพื่อกำจัดตัวอ่อนของแมลงวันในระยะต่าง ๆ เช่น สารสกัดจากส้มป่อย รากหนอนตายหยาก เป็นต้น

 

เอกสารอ้างอิง

Wall Richard, and David Shearer. Veterinary Entomology: Arthropod Ectoparasites of Veterinary Importance. London: Springer, 1997.

...................................................................................................... 

*** สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม *** 

Tel : 02-374-7118-9, 02-377-2488, 02-377-9580, 02-375-1995
e-mail : customercare@unicorgroup.com
website : www.unicorgroup.com

 

แบบฟอร์มติดต่อกลับ