ด้วงหลินจือ LING ZHI BEETLE

ด้วงหลินจือ LING ZHI BEETLE

  • ชื่อสามัญ : LING ZHI beetle
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ : Platydema waterhousei Gelbien
  • Family : Tenebrionidae
  • Order : Coleoptera

 

ลักษณะทางสัณฐานวิทยาและชีววิทยา

ลักษณะหนวด : แบบกกึ่งฟันเลื่อย (subserrate) มี 11 ปล้อง โคนหนวดสีน้ำตาลแดง

ลักษณะปีก : ปีกคู่หน้าเป็นแบบแข็ง (Elytra) จะมีหลุม (puncture) เรียงเป็นแถวเป็นเส้นขนานจากด้านหน้าสู่ด้านหลัง ปีกคู่หลังเป็นแบบ membrane ลักษณะบางใส

ลักษณะปาก : แบบกัดกิน (chewing type)

ลักษณะขา : แบบขาเดิน (walking leg)

ลักษณะทั่วไป : ตัวเต็มวัยเป็นด้วงปีกแข็งขนาดใหญ่มีขนาดของลำตัวอยู่ที่ 5.0 – 6.0 mm สีดำแต่ไม่มัน ส่วหัวของตัวเต็มวัยเพศผู้จะมีเขายื่นออกไปข้างหน้า 1 คู่ ตัวเต็มวัยเพศเมียไม่มีเขา บริเวณอก (thorax) มีลักษณะเรียบขอบไม่มีหยัก    

 

ด้วงหลินจือ มีการเจริญเติบโตแบบ complete metamorphosis ซึ่งจะประกอบไปด้วย

  • ระยะไข่ (egg) : มีระยะเวลา 6-7 วัน ไข่มีลักษณะยาวรีสีขาวนวล
  • ตัวอ่อน (larva) : มีระยะเวลา 26-32 วัน
  • ดักแด้ (pupa) : มีระยะเวลา 4-7 วัน
  • ตัวเต็มวัย (adult) : เพศผู้มีอายุไขเฉลี่ย 88-277 วัน เพศเมียมีอายุไขเฉลี่ย 100-257 วัน

 

แหล่งอาหาร : เห็ดหลินจือแห้ง

ลักษณะการทำลาย : ด้วงหลินจือเป็นแมลงที่สำคัญที่เข้าทำลายเห็ดหลินจือแห้ง ตั้งแต่ก่อนระยะก่อนเก็บเกี่ยว จนถึงระยะหลังเก็บเกี่ยว ตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่เป็นกลุ่มที่ดอกเห็ด เมื่อหนอนฟักออกจากไข่ก็จะเริ่มกัดทำลายเห็ดก่อให้เกิดความเสียหายมาก ลักษณะเด่นของด้วงหลินจือ คือ หนอนจะขับถ่ายเส้นใยสีน้ำตาลทางทวาร และจะสร้างเส้นใยนี้หนาแน่นขึ้นเมื่อจะเข้าดักแด้ และเข้าดักแด้ภายในเส้นใยนี้ หลังจากเข้าดักแด้แล้ว ตัวเต็มวัยจะกัดเส้นใยออกสู่ภายนอกและเริ่มทำลายเห็ดร่วมกับตัวหนอนอื่นๆ เนื่องจากด้วงหลินจือมีขนาดใหญ่ทำให้เกิดความสูญเสียค่อนข้างมากและรวดเร็ว

การแพร่กระจาย : แพร่กระจายในเขตร้อนชื้น

 

วิธีการป้องกันควบคุม

  • ใช้ความร้อน 60 °C นานอย่างน้อย 50 นาที หรือความร้อน 50 °C นาน 100 นาที สามารถทำลายด้วงหลินจือได้ทุกระยะการเจริญเติบโต
  • ใช้ความร้อนจากไมโครเวฟ ใช้ความร้อนสูงสุดอบนาน 1 นาที สามารถทำลายด้วงหลินจือได้ทุกระยะ

 

เอกสารอ้างอิง

พรทิพย์ วิสารทานนท์, พรรณเพ็ญ ชโยภาส, ใจทิพย์ อุไรชื่น, รังสิมา เก่งการพานิช, กรรณิการ์ เพ็งคุ้ม, จิราภรณ์ ทองพันธ์, ดวงสมร สุทธิสุทธิ์, ลักขณา ร่มเย็น, ภาวินี หนูชนะภัย, อัจฉรา เพชรโชติ. (2551). แมลงที่พบในผลิตผลเกษตรและการป้องกันกำจัด. กลุ่มวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว สำนักวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร กรมวิชาการเกษตร